calendar

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

งานวิจัย

1. การวิเคราะห์วรรณกรรมไทยร่วมสมัยแนวสัจนิยมมหัศจรรย์

2. การศึกษาเปรียบเทียบคำบุรุษสรรพนามในภาษาไทย 4 ถิ่น

3. การศึกษาเวสสันดรชาดกฉบับท้องถิ่นภาคใต้

4. การสืบสรรค์จินตภาพในกวีนิพนธ์ไทย

5. การศึกษาวรรณกรรมแนววัฒนธรรมประชานิยมเรื่องสังข์ทองฉบับต่าง ๆ

6. คุณค่าทางวรรณคดีของบทละครร้องของไทย

7. พัฒนาการราชาศัพท์สมัยสุโขทัยถึงสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

8. วิเคราะห์การสร้างสรรค์นิทานคำกาพย์

9. สถานภาพและบทบาทของตัวละครหญิงในนวนิยายของปิยะพร ศักดิ์เกษม

10. วิวัฒนาการการใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาในภาษาไทย

11. ลักษณะการใช้และความหมายของภาษาสแลงในนิตยสารวัยรุ่น

12. การวิเคราะห์พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พ.ศ.2493-2542

13. การวิเคราะห์ภาษาที่ใช้ในการตั้งกระทู้ของกระดานสนทนา

14. การศึกษาคำเดี่ยวในวรรณกรรมไทยสมัยอยุธยาที่ไม่ปรากฏเป็นคำเดี่ยวในพจนานุกรมปัจจุบัน

15. บทบาทของตัวละครพ่อในวรรณคดีไทย

16. การศึกษาคำบุพบทที่กลายมาจากคำกริยาในภาษาไทย

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมชาติของภาษา

ภาษา  หมายถึง  เสียงที่เป็นคำพูดหรือถ้อยคำสำนวนที่ใช้พูดกัน  รวมทั้งกิริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ถูกต้องตรงกัน  แบ่งออกเป็น  ๒  ประเภทคือ


         ๑.  ภาษาที่เป็นถ้อยคำ หรือ วัจนภาษา  หมายถึงภาษาที่ใช้เสียงพูด หรือตัวอักษรที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยตกลงกันให้ใช้เรียกแทนสิ่งของ ความคิด หรือมโนภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์รับรู้จากประสาทสัมผัส
         ๒.  ภาษาที่ไม่เป็นถ้อยคำ  หรือ อวัจนภาษา  หมายถึง ภาษาที่เกิดจากกิริยาอาการต่างๆ  ที่แสดงออกมาทางร่างกาย หรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นแล้วผู้อื่นเกิดความเข้าใจความหมายได้โดยไม่ต้องอาศัยภาษาพูดหรือภาษาเขียนเป็นสื่อ

         ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อความคิดระหว่างมนุษย์มาแต่โบราณ  ถ้าไม่มีภาษาสังคมมนุษย์ย่อมไม่สามารถพัฒนามาจนถึงปัจจุบันได้  ในโลกนี้มีภาษาอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐  ภาษา  ลักษณะที่ถือว่าเป็นธรรมชาติของภาษามีดังนี้
                          ๑.      ภาษาใช้เสียงสื่อความหมาย
มนุษย์แต่ละชาติมีการกำหนดเสียงที่ใช้สื่อสารกันเพื่อสื่อความหมาย  ภาษาจึงเป็นสิ่งที่สังคมร่วมกันกำหนดขึ้นที่จะให้เสียงใดมีความหมายอย่างใด เสียงในภาษาแต่ละภาษาจึงต่างกัน  เช่น  เสียงในภาษาไทยประกอบด้วย เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์  ในขณะที่เสียงในภาษาอังกฤษจะไม่มีเสียงวรรณยุกต์  เป็นต้น
                          ๒.    หน่วยในภาษาประกอบกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นได้
ภาษาประกอบด้วยหน่วยต่างๆ เรียงจากหน่วยที่เล็กไปเป็นหน่วยที่ใหญ่ได้ดังนี้
               ๒.๑  เสียง เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในภาษา แบ่งเป็น เสียงพยัญชนะ เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์
               ๒.๒  พยางค์  เกิดจากการนำหน่วยเสียงในภาษามาประกอบกัน อาจมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้
               ๒.๓  คำ  เกิดจากพยางค์ที่ได้กำหนดความหมาย เมื่อกำหนดความหมายให้พยางค์นั้นก็จะกลายเป็นคำใช้สื่อสารได้
               ๒.๔  กลุ่มคำหรือวลี  เกิดจากการนำคำมาประกอบกันตามหลักการใช้ถ้อยคำของแต่ละภาษา เช่น  เสื้อยืดสีดำ เป็นกลุ่มคำ ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ เสื้อยืดและสีดำ
               ๒.๕  ประโยค  เกิดจากการนำคำมาเรียงลำดับกันตามระบบทางภาษาแต่ละภาษาแล้วได้ใจความสมบูรณ์ ประโยคสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นได้โดยการเติมคำขยาย 
                          ๓.     ภาษามีการเปลี่ยนแปลง
                ภาษาที่ไม่มีการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเราเรียกว่า “ภาษาตาย”  ซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก เช่น ภาษาสันสกฤต  ภาษาละติน  การศึกษาภาษาที่ตายแล้วเป็นการศึกษาเพื่อหาความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรู้เรื่องราวที่เขียนด้วยภาษานั้นๆ มิใช่เพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน  สำหรับภาษาที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเพราะการใช้ของมนุษย์นั่นเอง  การเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไปและใช้ระยะเวลานาน  เราจึงไม่ค่อยรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง สาเหตุที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลง  เช่น
                ๓.๑   ธรรมชาติของการออกเสียง  การพูดในชีวิตประจำวันทำให้เกิดลักษณะต่างๆ ได้  เช่น
     ก.  การกลมกลืนเสียง  เช่น
          อย่างนี้     เป็น     ยังงี้
          อย่างไร    เป็น     ยังไง
     ข.  การกร่อนเสียง  เช่น
          ฉันนั้น               เป็น     ฉะนั้น
          หมากพร้าว       เป็น      มะพร้าว
      ค.  การตัดเสียง  เช่น
          อุโบสถ     เป็น     โบสถ์
          ศิลปะ        เป็น     ศิลป์
      ง.  การกลายเสียง  เช่น
          สะพาน      เป็น     ตะพาน
          สภาวะ       เป็น     สภาพ
      จ.  การเพิ่มเสียง  เช่น
          ผักเฉด       เป็น     ผักกระเฉด
          ลูกดุม        เป็น      ลูกกระดุม
      ฉ.  การสลับเสียง  เช่น
          ตะกร้า        เป็น      กะต้า
          ตะไกร        เป็น      กะไต
                ๓.๒    การเรียนภาษาของเด็ก  เด็กที่เริ่มเลียนแบบเสียงพูดของผู้ใหญ่มักออกเสียงไม่ตรงกับผู้ใหญ่  เช่น  พ่อมักออกเสียงเป็นป้อ   คุณลุงมักออกเสียงเป็นจุนลุง
                ๓.๓   ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมสภาพวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทั้งความเป็นอยู่ อาชีพ การคมนาคม การศึกษา ทำให้เกิดคำต่างๆ ขณะเดียวกันคำที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ใช้เพราะไม่เกี่ยวกับวิถีชีวิตก็เริ่มสูญหายไป เช่น การประกอบอาหารที่มีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามาอำนวยความสะดวกทำให้คุณรุ่นใหม่ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ดงหม้อ
                ๓.๔   อิทธิพลของภาษาอื่น การติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร การพัฒนาทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความก้าวหน้าทางวิชาการ วิชาชีพใหม่ๆ ทำให้มีการยืมคำภาษาต่างๆ มาใช้  เช่น  คนรุ่นก่อนไม่รู้จักคำว่า หน่วยกิต เกรด สอบซ่อม รู้แต่เพียง  คะแนน  สอบได้  สอบตก 
                          ๔.     ภาษาต่างๆ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน  แม้ว่าแต่ละภาษาจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้างหลายประการ ดังนี้
                 ๔.๑  สามารถสร้างศัพท์ใหม่จากศัพท์เดิมได้  โดยอาจเปลี่ยนแปลงศัพท์เดิมหรือนำศัพท์คำอื่นมาประสมกับศัพท์เดิม  เช่น ภาษาไทยมีการประสมคำ ซ้อนคำ ซ้ำคำ  ภาษาอังกฤษมีการเติม Prefix  Suffix  Infix  เป็นต้น
                 ๔.๒  มีสำนวนและมีการใช้คำในความหมายใหม่  เช่น  ในภาษาไทยมีการใช้คำว่า “สีหน้า”  ซึ่งมิได้หมายถึง สีของหน้า แต่หมายถึงการแสดงออกทางดวงหน้า  หรือในภาษาอังกฤษมีคำว่า “hot air”  ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอากาศร้อน แต่หมายถึงเรื่องไม่จริง 
                 ๔.๓  มีชนิดของคำคล้ายกัน  เช่น  คำนาม คำขยายคำนาม  คำกริยา คำขยายกริยา 
                 ๔.๔  มีวิธีการขยายประโยคให้ยาวออกไปได้เรื่อยๆ
                 ๔.๕  มีวิธีแสดงความคิดคล้ายกัน  เช่น  ทุกภาษาต่างมีประโยคที่ใช้ถาม ปฏิเสธ หรือใช้สั่ง
                 ๔.๖  มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา
                          ๕.    ภาษาย่อมมีส่วนประกอบที่เป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน   ภาษาทุกภาษาจะต้องมีระบบระเบียบแบบแผน โดยทั่วไปแล้วภาษามีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ สัญลักษณ์ คำ  ประโยค และความหมาย  ทุกส่วนประกอบเหล่านี้  ต้องอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ตามระเบียบแบบแผนของภาษาจึงจะทำให้เกิดเป็นภาษาที่สมบูรณ์




Credit >> http://krunitty.wordpress.com/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2/




ตัวอย่างวรรณคดีไทย


  • มหาชาติคำหลวง หรือ มหาเวสสันดรชาดก

          เดิมเป็นภาษามคธหนึ่งพันคาถา แปลเป็นไทยมาแต่กรุงสุโขทัย เป็นหลักของหนังสือไทยเรื่องหนึ่ง สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฎบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ทั้ง ๑๐ อย่าง ยาว ๑๓ กัณฑ์ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้นักปราชญ์ 
ราชบัณฑิตในกรุงศรีอยุธยา ร่วมกันแปลแต่งมหาชาติขึ้นโดยวิธีตั้งสลับภาษามคธบาทหนึ่ง แปลเป็นไทยวรรคหนึ่ง เป็นฉันท์บ้าง โคลงบ้าง เพื่อความไพเราะและใกล้เคียงภาษาเดิม จึงเป็นหนังสือซึ่งนับถือว่า แต่งดีมาแต่ครั้งกรุงเก่า

  • ลิลิตพระลอ
          พระลอเป็นนิยายถิ่นไทยทางภาคเหนือ มีเค้าโครงเรื่องว่าเกิดในแคว้นลานนา แต่งเป็นคำประพันธ์ชนิดลิลิต (ใช้โคลงและร่ายคละกันไป) มีข้อความกระทัดรัด ไพเราะ รักษาข้อบังคับ ฉันทลักษณ์เคร่งครัด วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของวรรณคดีประเภทลิลิต ทั้งเนื้อเรื่อง กระบวนร้อยกรอง และภาษาที่ใช้ เป็นครูด้านแบบฉบับของลิลิตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมา เป็นวรรณคดีบริสุทธิ์ตรงที่ว่า ได้พรรณนาความรักทุกประเภทอันมนุษย์จะพึงมีไว้

  • สังข์ทอง
          เป็นนิทานในคัมภีร์ปัญญาสชาดกเรียก สุวัณณสังขชาดก พระบาทสมเด็จ-
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อทรงพระราชทานนิพนธ์บทละครเรื่องสังข์ทอง คงได้เลือกบทละครครั้งกรุงเก่ามาเป็นโครง เพราะมีกลอนเดิมหลายแห่งที่ทรงโปรด จนเอามาใช้ใน
พระราชนิพนธ์ ซึ่งกลอนเดิมนี้คงจะเป็นของนับถือ และนิยมกันว่าแต่งเป็นอย่างดี ในครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย

  • กากี
          มีเค้าจากเรื่องกากาติชาดกในนิบาตชาดก บทมโหรีมีเนื้อร้องเหมือนกับที่เจ้าฟ้า
ธรรมาธิเบศ (กุ้ง) นิพนธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นแบบ "กาพย์ห่อโคลง" ส่วนในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเป็นคำกลอนเพื่อใช้เป็นบทร้องส่งมโหรี ได้แต่งเรื่องนี้ในแผ่นดิน ที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทกลอนในเรื่องอันเป็นสำนวนที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นเยี่ยมในด้านการแต่งบทร้อง เนื้อความมีหลายรส สามารถชักจูงใจผู้ฟัง มีทั้งหมด ๘๐ คำกลอน แต่งไปจบเพียงตอนนางกากีถูกลอยแพ




  • มโนห์รา หรือ พระสุธนคำฉันท์
          เป็นนิทานชาดก ในตำรามหาวัสดุของอินเดียโบราณฝ่ายมหายาน เรื่องสุธนชาดก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์พระสุธนคำฉันท์ ส่วนบทละครเรื่องมโนห์รา เห็นได้ว่าไม่เป็นกลอนแปดแท้ เช่นบทละครสามัญแต่ปนกาพย์ ทำนองกลอนเป็นอย่างที่ละครมโนห์ราใช้กันอยู่ทางปักษ์ใต้ สันนิษฐานว่าบทละครมโนห์ราเป็นบทละครชิ้นแรกในกรุงเก่า




  • พระอภัยมณี
          พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง หรือสุนทรภู่ แต่งเป็นประเภทกลอนแปด เป็นภาษาเขียนในบทกวีที่อ่านแล้วสนุก มีคติเข้าใจง่าย ใช้คำที่เหมาะต่อเนื้อหาของเรื่อง เป็นนักกวีที่เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์และภาษาศาสตร์ ใช้ถ้อยคำและสำนวน โวหารได้ฉับพลัน องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศยกย่องเกียรติคุณ ในฐานะบุคคลดีเด่นของโลกในสาขาวัฒนธรรม




  • เงาะป่า
          พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บทละครที่นับเป็นการริเริ่มในด้านวรรณคดีอีกแนวหนึ่ง เรื่องและฉากเหตุการณ์แปลกออกไป เป็นบทละครรูปแบบไทยโบราณ เค้าโครงเป็นโศกนาฏกรรม แสดงขนบธรรมเนียม ชีวิตการต่อสู้ การทำมาหากิน และแทรกภาษาขอ ง "เงาะ" ไว้ด้วยสำนวนกลอนไพเราะ บทพรรณนางดงาม มีคติชีวิตคมคาย




  • มัทนะพาธา หรือ ตำนานแห่งดอกกุหลาบ
          ละครพูดคำฉันท์ ๕ องค์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นหนังสือแต่งดีเพราะทรงพระราชดำริใช้คำฉันท์เป็นบทละครพูด ซึ่งเป็นของแปลกในกระบวนวรรณคดี และแต่งได้โดยยากในทางภาษา ทรงคิดเค้าโครงเรื่องด้วยพระองค์เอง จึงนับว่าเป็นจินตนิยาย




  • สาวิตรี
          พระราชนิพนธ์บทละครร้อง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องมีในคัมภีร์มหาภารต อันเป็นมหากาพย์ภาษาสันสกฤตเรื่องหนึ่งของอินเดีย (คู่กับคัมภีร์
รามายณ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์) เป็นเรื่องแสดงถึงอำนาจแห่งความรัก และความภักดีอั นยิ่งใหญ่ที่ภริยามีต่อสามี ได้ทรงพระราชนิพนธ์โดยอาศัยฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ




  • สกุนตลา
          เป็นเรื่องเกร็ดอันหนึ่งในมหาภารตเรียกว่า ศกุต์โลปาข์ยาณ ถูกแปลไปหลายภาษา การแปลแต่งเป็นไทยนี้ เพื่อให้เหมาะแก่การที่จะเล่นเป็นบทละครรำสำนวนหนึ่ง และบทละครร้องหรือบทละครดึกดำบรรพ์อีกสำนวนหนึ่ง โดยอาศัยฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษของเซอร์วิลเลี่ยม โยนส์ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้ นับเป็นช่วงระยะเวลาที่ภาษาเขียนได้เจริญสูงสุด ปรากฎบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์มากกว่า ๒๐๐ เรื่อง




  • กนกนคร
          นิทานในหนังสือสันสกฤตชื่อ กถาสริตสาครเรื่องเมืองทอง พระราชวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงนิพนธ์เป็นนิทานคำกลอนประเภทกลอนหกล้วนๆ สร้างระเบียบบังคับกลอนแนวใหม่ ซึ่งทรงริเริ่มขึ้นทั้งด้านสำนวนโวหาร ถ้อยคำ ใช้คำง่ายๆ แต่มีข้อความไพเราะ เนื้อเรื่องให้ความเพลิดเพลิน ให้ความรู้ศัพท์แปลก ๆ สูง ๆ ถ้อยคำที่นำมาใช้อย่างตั้งใจว่า ต้องเป็นคำที่ได้น้ำหนักกันอย่างดี มีความหมาย ทรงพระนิพนธ์จบลงโดยอาศัยฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งกล่าวว่าแปลจากสมุดสันสกฤต ชื่อ 
ตริวิกรมาโธคาศรีระ




  • กามนิต - วาสิฎฐี
          เป็นนิยายอิงศาสนาพุทธทางลัทธิมหายาน ดำเนินเรื่องอาศัยพุทธประวัติ และหลักธรรม ตลอดจนเรื่องราวในพระสูตรต่างๆ เป็นโครง แทรกลัทธิศาสนาพราหมณ์และวรรณคดีอินเดีย แต่งโดยนักเขียนชาวเดนมาร์ก เสฐียรโกเศศและนาคะประทีปแปลแต่งเป็นหนังสือนวนิยาย ร้อยแก้ว มีสำนวนโวหารไพเราะ จังหวะลีลาในการประพันธ์เหมาะสมแก่เหตุการณ์ และบรรยากาศของเรื่อง








Credit  >>  http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~boonnart/literat.html

ประวัติ(ไม่)ส่วนตัว

ชื่อ : นางสาวกิตติยาพร  อาจจีน
  
ชื่อเล่น : ยุ้ย

รหัสนิสิต  53010110503  ชั้นปีที่สาม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สาขาวิชาภาษาไทย (TI)  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เกิด : วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2534

จบจาก : โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล  จังหวัดสกลนคร